:
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เทศบาลตำบลพระลับ // ติดต่อสอบถาม: โทรศัพท์ : 043-915088 ต่อ 22 โทรสาร : 043-915039 อีเมล์ : saraban@phalub.go.th , pralub@hotmail.com , info@phalub.go.th

ชื่อ: วัดป่าแสงอรุณ

13 มี.ค. 2564

รายละเอียด:

ที่ตั้งวัด / อาณาเขตของวัด
วัดป่าแสงอรุณ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 448 บ้าน เลิงเปือย หมู่ 9 ตำบลพระลับ อำเภอเมือง
จังหวัดขอนแก่นสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตด้านทิศตะวันออกและห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ระยะทางประมาณ  1 กิโลเมตร
- ทิศเหนือ กว้าง 443 เมตร ติดถนนพระคือ-หนองโพธิ์
- ทิศใต้ กว้าง 204 เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
- ทิศตะวันออก กว้าง 243 เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
- ทิศตะวันตก กว้าง 216 เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
ประวัติความเป็นมา
          วัดป่าแสงอรุณ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 โดยพระอาจารย์เทสก์ เทศรังสี (หลวงปู่เทสก์) วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย และพระอาจารย์ปิ่น ปัญญาพโล   เริ่มแรกยังมิได้มีการตั้งชื่อวัด ในระยะแรกจึงเรียก "วัดป่าพระคือ" เนื่องจากชาวบ้านพระคือให้ความอุปถัมภ์วัดมาก่อน ต่อมาหมู่บ้านเลิงเปือยให้การอุปถัมภ์บำรุงวัด และมีการตั้งชื่อวัดใหม่ว่า "วัดป่าแสงอรุณ"  ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2528 ทางวัดได้รับพระราชทาวิสุงคามสีมา เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร

ข้อมูลทั่วไป
                วัดป่าแสงอรุณ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 6 กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ วัดมีเนื้อที่ 39 ไร่ สิมอีสาน ได้เน้นถึงรูปแบบ ทรวดทรง ความมั่นคงสามารถคุ้มแดดคุ้มฝน ตลอดจนความวิจิตรงดงามของภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่นตลอดไป
               ปูชนียสถาน / ปูชนียวัตถุ  
               อุโบสถ (สิมอีสานประยุกต์) เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมส่วนกลาง เพื่อให้สวยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กว้าง 15 เมตร ยาว 34 เมตร สูงจากพื้นดินเดิม 60 เมตร เสา 52 ต้น หน้าต่าง 14 ช่อง ประตู 3 ช่อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาแบบโบราณ มีหอระฆัง 4 หอ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มั่นคงถาวรโดยตลอด
พระประธานประจำวัดมีชื่อว่า "หลวงปู่ขาว"เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) สมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง 11 นิ้ว สูง 1 ฟุตเศษ ซึ่งเป็นพระคู่บารมีของวัด
พระประธานในสิมอีสานมีชื่อว่า "พระพุทธสังสิโยภาสสุขพิพัฒน์"เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 2 เมตรเศษ มีลักษณะงดงาม และเป็นศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ศาลาหลวงพ่อองค์ดำ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฎิมาองค์ดำจำลองมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย มีพระประจำวันเกิดครบทุกวัน และมีรูปเหมือนพระบูรพาจารย์สำคัญ 2 รูปคือหลวงปู่มั่น และหลวงปู่เทสก์

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่สำคัญ 
ศาลาไม้แก่นขาม 1 หลัง เป็นการก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นไม้แก่นขามทั้งหมด ตั้งแต่เสาถึงหลังคาชั้นบนเพียงชนิดเดียว โดยไม่ใช้ไม้อื่นๆ เลยจนกระทั่งไม้ฐานตั้ง พระพุทธรูปและพระพุทธรูปปางรำพึง สูงประมาณ 1 เมตร ก็เป็นไม้แก่นขามทั้งสิ้น
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวิถีชาวชนบทอีสาน เป็นพิพิธภัณฑ์หุ่นปั้นวิถีชีวิตชาวชนบทอีสานเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด โดยมีจุดมุ่งหมายให้เยาวชนไทยได้ทราบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของตน จะได้เกิดความประทับใจในความเป็นไทยที่สืบทอดมาด้วยความเหนื่อยยาก 
วังปลาบึกยักษ์ ขนาด 100 กิโลกรัม บริเวณด้านหลังวัดจะมีสระน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลาบึกขนาดใหญ่ จะลอยขึ้นมาเหนือน้ำให้ผู้ที่ไปเยี่ยมชมได้พบเห็นและได้บริจาคอาหารให้ปลาชนิดต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดบุญกุศลอีกส่วนหนึ่ง  นอกจากนี้ทางด้านหน้าวัดด้านทิศเหนือของสิมอีสานยังมีน้ำตกจำลอง สวนหย่อม สนามหญ้า  ป่าไม้หลากหลายพันธุ์ ให้ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้พบเห็นและพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดอีกด้วย

การบริหารและการปกครอง
               วัดป่าแสงอรุณ สร้างก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช 2484 ผู้นำด้านการปกครองภายในวัด ซึ่งเรียกว่า “เจ้าอาวาส” ก็บริหารสืบต่อกันมา โดยไม่มีการแต่งตั้งแต่อย่างใด แต่ก็เคารพเชื่อฟังกันตามอายุ พรรษา ด้วยดีมาตลอด เริ่มมีการแต่งตั้งเป็นทางการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ซึ่งมีลำดับ เจ้าอาวาส ดังนี้
1) พระอาจารย์เทศก์ เทสฺรํสี (พระราชนิโรธรังสี) พ.ศ. 2473–2474   
2) พระอาจารย์สอน พ.ศ. 2474–2476
3) พระอาย์ครูจันทร์ พ.ศ. 2476–2480                                       
4) พระอาจารย์บุญ พ.ศ. 2480–2485  
5) พระอาจารย์สี พ.ศ. 2485–2488
6) พระหลวงปู่นนท์ พ.ศ. 2488–2494
7) พระอาจารย์สมพร พ.ศ. 2494–2500
8) พระอาจารย์สุวรรณ ขนฺติโก พ.ศ. 2500–2504
9) พระอาจารย์ทองม้วน อตฺตคุตฺโต พ.ศ. 2504–2509
10) พระอาจารย์สุวรรณ ขนฺติโก พ.ศ. 2509–2515
11) พระอาจารย์ทองม้วน อตฺตคุตฺโต พ.ศ. 2515–2519
12) พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ ป.ธ.๙) พ.ศ. 2519–ปัจจุบัน   

รูปภาพ/ไฟล์เอกสาร